โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้หรือไม่

สะเก็ดเงิน โรคผิวหนังเรื้อรังที่เป็นๆ หายๆ จากสถิติพบผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินประมาณร้อยละ 2-4 ของประชากรทั่วโลก เป็นโรคไม่ติดต่อพบได้ทุกเพศทุกวัยและทุกเชื้อชาติทั่วโลก สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มักเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุมกัน ทำให้การแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วกว่าปกติ การเจริญเติบโตและการพัฒนาการของผิวหนังไม่สมบูรณ์

สะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังที่ถายทอดทางพันธุกรรม ถูกกระตุ้นโดยสิ่งแวดล้อม เช่น เป็นหวัด ความเครียด อาการที่พบคือเป็นผื่นแดงหนาขอบเขตชัดเจนมีสะเก็ดสีเงินปกคลุม เมื่อขูดสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดเล็กๆ ใต้ผิวหนัง มักเป็นบริเวณข้อศอก หัวเข่า หน้าแข้ง ผื่นอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่กระจายทั่วร่างกาย ศีรษะมีผื่นแดงลอกเป็นขุยขาวๆ คล้ายรังแค อาจมีการเปลี่ยนแปลงที่เล็บ เช่น มีเล็บหนา เนื้อเล็บผุกร่อน ลอกเป็นขุยขาวหรือเป็นหลุมเล็กๆ บริเวณผิวเล็บ และอาจมีอาการปวดข้อร่วมด้วย โดยปัจจัยที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ ได้แก่ การเกิดบาดแผลบนผิวหนัง ถูกของมีคมเป็นแผลหรือแม้แต่เกิดรอยถลอกเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดผื่นของโรคบริเวณนั้น การเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นในฤดูร้อนเพราะได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต และอาการจะกำเริบในช่วงฤดูหนาวเนื่องจากอากาศแห้ง ด้านสภาพจิตใจหากผู้ป่วยได้รับความกระทบกระเทือนใจหรือเครียดจะทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น การติดเชื้อในร่างกาย เช่น ไข้หวัด มีส่วนทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น รวมถึงการระคายเคืองต่อผิวหนัง เช่น การแพ้ยาทาต่างๆ สบู่ ผงซักฟอก จะทำให้เป็นผื่นมากขึ้น

การดูแลและใส่ใจของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าโรคสะเก็ดเงินนั้นไม่ใช่โรคติดต่อ คนใกล้ชิดควรเข้าใจ อย่ารังเกียจผู้ป่วย ควรให้กำลังใจผู้ป่วย เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยได้บรรเทาความเครียด และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ สามารถรับประทานอาหารได้ ให้ผู้ป่วยได้กินอิ่มนอนหลับ ซึ่งวิธีการต่างๆนี้จะช่วยควบคุมโรคให้สงบลงได้ และผู้ป่วยก็ควรใส่ใจในการดูแลตัวเองด้วย ผู้ป่วยควรรู้ว่าอะไรทำได้หรือไม่สามารถที่จะทำได้และอาหารอะไรที่ไม่ควรรับประทาน ทั้งยังต้องติดตามรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างต่อเนื่อง เพราะโรคสะเก็ดเงินนั้นค่อนข้างใช้ระยะเวลาในการรักษานาน รวมไปถึงควรป้องการกันไม่ให้โรคกลับมาได้อีกด้วย

การรักษาโรคสะเก็ดเงินต้องวางแผนระยะยาวและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโรคกำเริบ กรณีเป็นผื่นไม่มากรักษาด้วยการใช้ยาทา หากอาการไม่ดีขึ้น อาจใช้ร่วมกับการฉายแสงอัลตราไวโอเลต ถ้าผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจใช้ยารับประทานร่วมด้วย ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงไม่ควรซื้อยามาทาหรือรับประทานเอง ส่วนผื่นที่หนังศีรษะควรใช้แชมพูยาที่มีส่วนผสมของ TAR ร่วมกับการทายา และควรดูแลตัวเองด้วยการทาครีมหรือโลชั่นให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวเป็นประจำทุกวัน หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังเนื่องจากจะทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ เช่น ใช้น้ำยาฆ่าเชื้อในการทำความสะอาด ดื่มเหล้าหรือแอลกอฮอล์ เกาหรือพยายามแกะสะเก็ดออกจากผื่นจะทำให้เลือดออก และควรเลือกใช้สบู่อ่อนๆ รวมถึงควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ไม่เป็นหวัด ไม่เครียด